คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 16 เมษายน 2561

สวัสดี คุณหมอ ดร.โอ ที่เคารพ 
ปัจจุบันผมอายุ 65 ปี แต่งงานมาแล้ว 2 หน ภรรยาคนล่าสุดเพิ่งอยู่กินกันมาได้ 2 ปีกว่า ไม่มีลูกด้วยกัน แต่ภรรยามีลูกติด 2 คน ครอบครัวมีความสุขดี แต่ที่เป็นปัญหาคือ ผมเป็นคนที่มีอารมณ์บ่อยมากที่ผ่านมาผมกับภรรยามีอะไรกันเกือบทุกวัน โชคดีที่ภรรยาก็มีอารมณ์ร่วมด้วยตลอด แต่ที่กังวลใจตอนนี้คือ เวลาที่อวัยวะเพศแข็งตัวทีไรมักจะไม่ค่อยอ่อนตัวคือจะแข็งค้างอยู่นานพอควรกว่าจะลงได้ และเป็นแบบนี้บ่อยมาก จนหลัง ๆ มานี้ไม่อยากมีอะไรกับแฟนเลยกลัวว่าจะเกิดอันตรายมากกว่านี้ แต่ที่น่าสังเกตคือแข็งค้างทีไรผมจะไม่มีอาการปวดหรือเจ็บแต่อย่างไร แต่มันทำให้น่ารำคาญและกังวลใจ จึงไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร และอันตรายไหม หากเกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ จะแก้ไขได้อย่างไรครับ ผมกับแฟนยังต้องการมีความสุขทางเพศอยู่ครับ?
 
ด้วยความเคารพ
ว.ง.ส.65

ตอบ ว.ง.ส.65
อาการทางเพศของชายวัย 65 ปี คือ อวัยวะเพศแข็งค้างโดยปราศจากความเจ็บปวดใด ๆ ทางการแพทย์เรียกว่าภาวะไพรอะพริเซอมส์เป็นแบบชนิด Nonischemic (arterial, high flow) priapism เป็นภาวะองคชาตแข็งตัวค้างที่ไม่เกี่ยวข้องทางเพศที่เกิดจากการไหลเข้าของเลือดสู่องคชาตที่ผิดปกติ โดยทั่วไปกล้ามเนื้อคอร์ปอร่า คาเวอโนซา (corpora cavernosa) จะไม่ได้แข็งตัวเต็มที่หรือเจ็บปวด ผลการตรวจก๊าซในเลือดจะไม่มีลักษณะออกซิเจนต่ำหรือเลือดเป็นกรด ภาวะแบบนี้ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินเพราะกล้ามเนื้อเพศได้รับออกซิเจนเพียงพอและการแข็งตัวที่เกิดขึ้นไม่เจ็บปวด สาเหตุส่วนมากของภาวะนี้เกิดจากโรคโลหิตจาง Sickle Cell Disease (SCD), โรคมะเร็งของเม็ดเลือด การได้รับยาบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะไพรอะพริเซอมส์ อีกแบบเกิดการแข็งค้างแบบปวดมากจากการฉีดยาเข้าสู่กล้ามเนื้อเพศ เช่น กลุ่มยา papaverine และ prostag-landin กลุ่มนี้จะปวดมากและกลุ่มไม่ปวดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน อวัยวะเพศหรือฝีเย็บ การบาดเจ็บอื่น ๆ ที่มีรายงาน คือการได้รับบาดเจ็บที่องคชาต ระหว่างการร่วมเพศ การบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน การบาดเจ็บจากการถูกเตะที่องคชาตหรือฝีเย็บ และการบาดเจ็บจากเข็มที่ใช้ยาฉีดยาเข้าที่องคชาต จะเริ่มปวดก่อนเสมอ แบบปวดนี้อันตรายมากต้องรักษาภายใน 4 ชม.

การเกิดไพรอะพริเซอมส์แบบไม่ปวด ชนิดแข็งค้างไม่ปวด (Nonischemic priapism) มีอันตรายกับชีวิตน้อยมากเนื่องจากภาวะแข็งค้างไม่ปวด (nonischemic priapism) ไม่ได้ทำให้เซลล์ที่องคชาตได้รับความเสียหายและการรักษาที่ช้าขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร ฉะนั้นการจัดการมาตรฐานของภาวะนี้คือ การสังเกตอาการ โดยจากรายงานพบว่าคนไข้ประมาณ 2 ใน 3 จะหายได้เอง แต่การเกิดภาวะนี้มีความเสี่ยงต่ออาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาการเหล่านั้นได้แก่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศซึ่งพบได้ 50% และภาวะอื่น ๆ เช่น เนื้อตายที่องคชาต การอักเสบเป็นหนองที่กล้ามเนื้อเพศ และฝีหนองที่ฝีเย็บ ขอแนะนำให้ไปตรวจร่างกายและขอคำแนะนำจากแพทย์ทางเดินปัสสาวะหากจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ได้ จะได้หายกังวลใจและกลับมามีความสุขทางเพศได้อย่างเดิม

ท่านใดที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศที่จะต้องขอถามหรือขอคำแนะนำปรึกษาให้โทรฯ ได้ที่เบอร์ 08-4636-2789, 08-1814-5441 และ เว็บไซต์ www.meetdoctoro.com Line ID :@droclinic

...............................
ดร.โอ สุขุมวิท 51